Month: สิงหาคม 2020

ห้ามตกปลา

คอร์รี่ เทน บูม ผู้รอดชีวิตจากการสังหารหมู่ชาวยิวทราบดีถึงความสำคัญของการให้อภัย ในหนังสือ พเนจรเพื่อพระเจ้า เธอบอกว่า ภาพโปรดในจินตนาการของเธอคือภาพของบาปที่ได้รับการอภัยถูกโยนลงในทะเล “เมื่อเราสารภาพบาป พระเจ้าทรงโยนมันลงไปในมหาสมุทรที่ลึกที่สุด หายไปตลอดกาล... ฉันเชื่อว่าพระเจ้าทรงติดป้ายที่เขียนว่า ห้ามตกปลา ไว้ที่นั่น”

เธอชี้ถึงความจริงที่สำคัญที่บางครั้งผู้เชื่อในพระเยซูอาจไม่เข้าใจ คือเมื่อพระเจ้าทรงยกโทษความผิดบาปของเรา เราได้รับการอภัยอย่างครบถ้วน เราไม่ต้องมัวขุดคุ้ยการกระทำอันน่าละอาย หรือจมอยู่กับความรู้สึกว่าตนสกปรก แต่เราสามารถยอมรับพระคุณและการอภัยจากพระองค์ และติดตามพระองค์อย่างเสรี

เราพบแนวคิด “ห้ามตกปลา” นี้ในสดุดี 130 ผู้เขียนประกาศว่า แม้พระเจ้าทรงยุติธรรม แต่พระองค์ทรงให้อภัยความบาปแก่ผู้ที่กลับใจ “แต่พระองค์มีการอภัย” (ข้อ 4) เมื่อผู้เขียนสดุดีรอคอยพระเจ้า วางใจในพระองค์ (ข้อ 5) ท่านกล่าวด้วยความเชื่อว่า “พระองค์จะทรงไถ่อิสราเอลจากความบาปผิดทั้งสิ้นของเขา” (ข้อ 8) คนเหล่านั้นที่เชื่อจะได้พบ “การไถ่อย่างสมบูรณ์” (ข้อ 7)

เมื่อเราติดกับอยู่ในความรู้สึกละอายและไร้ค่า เราก็ไม่อาจรับใช้พระเจ้าได้อย่างสุดใจ แต่ถูกจำกัดจากอดีต ถ้าคุณถูกขัดขวางจากความผิดที่เคยทำ จงทูลขอพระเจ้าที่จะช่วยให้คุณเชื่ออย่างหมดใจในของประทานแห่งการอภัยและชีวิตใหม่ในพระองค์ พระองค์ทรงโยนบาปของเราทิ้งในมหาสมุทรแล้ว

สัตย์ซื่อจนกว่าจะเก็บเกี่ยว

ผู้หญิงคนหนึ่งที่ผมรู้จักวางแผนจัดกิจกรรมที่สวนสาธารณะแล้วเชิญลูกของเพื่อนบ้านทุกคนมาร่วม เธอตื่นเต้นที่จะได้มีโอกาสแบ่งปันความเชื่อของเธอกับเพื่อนบ้าน

เธอเกณฑ์หลานสามคนและนักเรียนมัธยมปลายอีกสองคนมาช่วย มอบหมายงาน คิดเกมและกิจกรรมต่างๆ เตรียมอาหาร เตรียมเรื่องราวจากพระคัมภีร์เกี่ยวกับพระเยซูเพื่อแบ่งปันแก่เด็กๆ และรอคอยพวกเขามาร่วม

ในวันแรกไม่มีเด็กมาแม้แต่คนเดียว วันที่สองและสามก็เช่นกัน ถึงอย่างนั้นเพื่อนของผมก็ยังจัดกิจกรรมร่วมกับหลานๆ และผู้ช่วยของเธอทุกวัน

ในวันที่สี่ เธอสังเกตเห็นครอบครัวหนึ่งมาปิกนิกอยู่ใกล้ๆ จึงชวนเด็กๆมาเล่นเกม เด็กหญิงตัวน้อยคนหนึ่งมา เธอได้ร่วมสนุก กินอาหารกับพวกเขาและฟังเรื่องราวของพระเยซู บางทีอีกหลายปีต่อจากนี้เธออาจจะยังจำได้ ใครจะรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ในพระธรรมกาลาเทีย พระเจ้าทรงหนุนใจเราว่า “อย่าให้เราเมื่อยล้าในการทำดี เพราะว่าถ้าเราไม่ท้อใจแล้ว เราก็จะเกี่ยวเก็บในเวลาอันสมควร เหตุฉะนั้นเมื่อเรามีโอกาส ให้เราทำดีต่อคนทั้งปวง” (6:9-10)

อย่ากังวลกับตัวเลขหรือการวัดปริมาณความสำเร็จที่ตามองเห็น งานของเราคือ สัตย์ซื่อในสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์ให้เราทำ และมอบการเก็บเกี่ยวไว้กับพระองค์ พระเจ้าทรงเป็นผู้กำหนดผลลัพธ์

ความงดงามในที่มืดมิด

เมื่อฉันและสามีออกสำรวจพื้นที่เล็กๆที่ขรุขระของรัฐไวโอมิง ฉันเห็นต้นทานตะวันในที่แห้งแล้งซึ่งมีแต่หิน ที่ซึ่งพืชจำพวกไม้พุ่ม ตำแย กระบองเพชรและพวกพืชลำต้นผอมแห้งขึ้นอยู่ ทานตะวันต้นนี้ไม่สูงเท่าต้นทานตะวันทั่วไป แต่สีของมันยังสดใส และทำให้ฉันเบิกบานใจ

ความงดงามที่ไม่คาดคิดในภูมิประเทศทุรกันดาร ทำให้ฉันนึกถึงชีวิตที่อาจดูเหี่ยวเฉาและหดหู่แม้จะเป็นผู้เชื่อในพระเยซู ปัญหาที่ดูยากเกินจะก้าวผ่าน คำอธิษฐานของเราที่บางครั้งก็ดูเหมือนถูกมองข้าม เช่นเดียวกับการคร่ำครวญของดาวิดผู้เขียนสดุดี “ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงเงี่ยพระกรรณตอบข้าพระองค์ เพราะข้าพระองค์ยากจนและขัดสน” (สดด.86:1) เราเองก็ปรารถนาความยินดีเช่นเดียวกับดาวิด (ข้อ 4)

แต่ดาวิดยังคงประกาศว่า เรารับใช้พระเจ้าผู้ทรงสัตย์ซื่อ (ข้อ 11) “กอปรด้วยพระกรุณาและพระเมตตา” (ข้อ 15) ผู้ทรงอุดมด้วยความรักมั่นคงต่อบรรดาผู้ร้องทูลพระองค์ (ข้อ 5) พระองค์ทรงตอบคำร้องทูลของเรา (ข้อ 7)

บางครั้งพระเจ้าทรงส่งดอกทานตะวันมาในเวลาที่มืดมน คือข้อความหรือคำหนุนใจจากเพื่อน ข้อพระคำหนุนใจ หรือดวงอาทิตย์ขึ้นอันงดงาม ซึ่งช่วยให้เราก้าวไปข้างหน้าด้วยย่างก้าวที่สดใสและมีความหวัง แม้ในขณะที่เรารอคอยวันที่จะได้มีประสบการณ์การช่วยกู้จากความยากลำบาก ก็ขอให้เราประกาศร่วมกับผู้เขียนสดุดีว่า “พระองค์ใหญ่ยิ่ง และทรงกระทำการอัศจรรย์ พระองค์แต่องค์เดียวทรงเป็นพระเจ้า” (ข้อ 10)

ร่วมงานกับพระเจ้า

ระหว่างการเยือนประเทศเม็กซิโกในปี 1962 บิล แอชช่วยซ่อมกังหันลมที่ใช้สูบน้ำบาดาลของบ้านเด็กกำพร้า ด้วยความปรารถนาแรงกล้าที่จะรับใช้พระเจ้าด้วยการจัดหาน้ำสะอาดให้แก่หมู่บ้านที่ขาดแคลน สิบห้าปีต่อมาบิลจึงก่อตั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไร เขาบอกว่า “พระเจ้าทรงเร้าใจผมให้ ‘ใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด’ โดยการตามหาคนอื่นๆที่ปรารถนาจะนำน้ำสะอาดไปยังคนยากจนในชนบท” ต่อมาเมื่อได้ทราบถึงความต้องการน้ำสะอาดทั่วโลก ผ่านคำร้องขอของศิษยาภิบาลและนักประกาศหลายพันคนจากกว่า 100 ประเทศ บิลได้เชิญชวนคนอื่นๆให้ร่วมพันธกิจนี้กับเขา

พระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้เราร่วมรับใช้กับพระองค์และผู้อื่นด้วยวิธีการที่หลากหลาย เมื่อผู้คนในโครินธ์ถกเถียงกันเรื่องผู้สอนที่พวกเขาชอบ อัครทูตเปาโลยืนยันบทบาทของท่านในฐานะผู้รับใช้ของพระเยซูและเพื่อนร่วมงานของอปอลโล โดยการพึ่งพาพระเจ้าผู้ทรงทำให้จิตวิญญาณเติบโตอย่างเต็มที่ (1 คร.3:1-7) ท่านเตือนเราว่าพระเจ้าทรงเห็นคุณค่าของงานทุกอย่าง (ข้อ 8) ทั้งยังเป็นเกียรติที่ได้ทำงานร่วมกับผู้อื่นในขณะที่รับใช้พระองค์ เปาโลหนุนใจเราให้เสริมสร้างซึ่งกันและกันขณะเมื่อพระองค์เปลี่ยนแปลงเราด้วยความรัก (ข้อ 9)

แม้ว่าพระบิดาผู้ทรงฤทธิ์จะไม่จำเป็นต้องรับความช่วยเหลือจากเราในการทำงานยิ่งใหญ่ของพระองค์ให้สำเร็จ แต่พระองค์ทรงฝึกฝนเราและเชื้อเชิญให้เราร่วมงานกับพระองค์

เพียงแค่วางใจ

เด็กสามร้อยคนแต่งตัวเรียบร้อยนั่งรออาหารเช้า มีการอธิษฐานขอบพระคุณสำหรับอาหารแล้ว แต่กลับไม่มีอาหาร! สถานการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับ จอร์จ มูลเลอร์ ซึ่งเป็นมิชชันนารีและผู้อำนวยการบ้านเด็กกำพร้า (1805-1898) นี่เป็นอีกโอกาสที่จะได้เห็นว่าพระเจ้าทรงเลี้ยงดูพวกเขาอย่างไร ไม่กี่นาทีหลังจากมูลเลอร์อธิษฐาน คนทำขนมปังที่นอนไม่หลับในคืนก่อนมาที่ประตู เขารู้สึกว่าบ้านเด็กต้องการขนมปังจึงอบมาสามชุด ไม่นานคนส่งนมประจำเมืองก็ปรากฏตัว เกวียนของเขาเสียอยู่หน้าบ้านเด็กกำพร้า เขาไม่ต้องการให้นมเสียเปล่าจึงได้มอบนมให้กับมูลเลอร์

เป็นเรื่องปกติที่เราจะกลัดกลุ้ม กังวล และสงสารตัวเองเมื่อขาดแคลนสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต เช่นอาหาร ที่อยู่อาศัย สุขภาพ การเงิน มิตรภาพ 1 พงศ์กษัตริย์ 17:8-16 เตือนเราว่าความช่วยเหลือจากพระเจ้าอาจมาจากแหล่งที่คาดไม่ถึง เหมือนกับหญิงม่ายยากจน “ดิฉันไม่มีอะไรที่ปิ้งเสร็จ มีแต่แป้งสักกำมือหนึ่งในหม้อ และน้ำมันเล็กน้อยที่ในไห” (ข้อ 12) ก่อนหน้านี้ก็เป็นกาที่เลี้ยงดูเอลียาห์ (ข้อ 4-6) ความกังวลถึงสิ่งจำเป็นต่างๆ อาจทำให้เราแสวงหาหนทางมากมาย ภาพที่ชัดเจนของพระเจ้าในฐานะผู้เลี้ยง ผู้ซึ่งทรงสัญญาว่าจะจัดเตรียมสิ่งจำเป็นให้เรานั้น ช่วยปลดเปลื้องความกังวลออกไป ก่อนที่เราจะหาทางแก้ปัญหา ขอให้เราตั้งใจแสวงหาพระองค์ก่อน การทำเช่นนั้นจะช่วยเราประหยัดเวลา พลังงาน และความขุ่นเคืองใจ

คู่แข่งหรือพันธมิตร

เมืองเท็กซาร์คาน่าตั้งอยู่ตรงพรมแดนระหว่างรัฐเท็กซัสและอาร์คันซอ เมืองนี้มีประชากร 70,000 คน มีนายกเทศมนตรีสองคน สภาเทศบาลสองสภา สถานีตำรวจและดับเพลิงอย่างละสองแห่ง การแข่งกีฬาระหว่างโรงเรียนมัธยมแต่ละฝั่งได้รับความสนใจอย่างสูง ซึ่งสะท้อนความภักดีที่ผู้คนมีต่อโรงเรียนประจำรัฐ แต่ก็มีปัญหาใหญ่ๆเกิดขึ้นด้วย เช่น ข้อพิพาทเรื่องระบบน้ำประปา ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐ ทว่าเมืองนี้กลับขึ้นชื่อในเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวกันแม้จะมีเส้นแบ่ง ทุกปีชาวเมืองของทั้งสองจะมาร่วมกันทานอาหารเย็นบนถนนที่คั่นระหว่างรัฐ โดยแบ่งปันอาหารเพื่อฉลองความเป็นหนึ่งเดียวในชุมชน

ผู้เชื่อในเมืองโครินธ์อาจไม่ได้ขีดเส้นแบ่งบนถนนแต่กลับแตกแยกกัน พวกเขาทะเลาะกันเพราะความภักดีที่มีต่อผู้สอนพวกเขาเรื่องพระเยซู ไม่ว่าจะเป็นเปาโล อปอลโล หรือเคฟาส (เปโตร) เปาโลวิงวอนให้พวกเขาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน “ในความคิดและจิตใจ” (1 คร.1:10 TNCV) โดยย้ำเตือนว่า พระคริสต์คือผู้ที่ทรงถูกตรึงกางเขนเพื่อพวกเขา ไม่ใช่พวกผู้นำฝ่ายวิญญาณ

ทุกวันนี้เราก็เป็นเช่นนั้นใช่หรือไม่ บางครั้งเราต่อต้านแม้แต่ผู้ที่มีความเชื่อเดียวกับเรา คือเชื่อว่าพระเยซูทรงสละพระชนม์เพื่อความบาปของเรา เรามองพวกเขาเป็นคู่แข่งแทนที่จะเป็นพันธมิตร เช่นเดียวกับที่พระคริสต์ไม่ทรงแบ่งแยก เราซึ่งเป็นตัวแทนคือพระกายของพระองค์บนโลกนี้ ต้องไม่ยอมให้ความแตกต่างที่ไม่เป็นสาระทำให้เราแตกแยกกัน แต่ให้เราเฉลิมฉลองความเป็นหนึ่งเดียวกันในพระองค์

บริสุทธิ์ด้วยไฟ

ทองคำยี่สิบสี่กะรัตนั้นเกือบเทียบเท่าทองคำร้อยเปอร์เซ็นต์ที่มีการปนเปื้อนเพียงเล็กน้อย แต่การไปถึงอัตราส่วนนั้นเป็นไปได้ยาก การทำให้บริสุทธิ์ผู้หลอมมักจะใช้หนึ่งในสองวิธีนี้ นั่นคือกระบวนการมิลเลอร์ซึ่งรวดเร็วและถูกที่สุด แต่จะได้ทองคำบริสุทธิ์ประมาณ 99.95 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการสกัดด้วยกระบวนการโวห์วีลล์ใช้เวลานานขึ้นและค่าใช้จ่ายสูงกว่า แต่จะได้ทองคำบริสุทธิ์ 99.99 เปอร์เซ็นต์

ในสมัยพระคัมภีร์ การทำให้บริสุทธิ์นั้นใช้ไฟเช่นเดียวกับการสกัดทองคำ ไฟทำให้สิ่งปนเปื้อนลอยขึ้นด้านบนจึงขจัดออกได้ง่าย ในจดหมายฉบับแรกที่อัครทูตเปโตรเขียนถึงผู้เชื่อในพระเยซูในเอเชียน้อย (ทางเหนือของตุรกี) นั้น ท่านใช้กระบวนการสกัดทองคำเพื่อเปรียบเทียบถึงวิธีที่การทดลองมีผลต่อชีวิตผู้เชื่อ ในเวลานั้นผู้เชื่อจำนวนมากถูกข่มเหงจากโรมันเพราะความเชื่อในพระคริสต์ เปโตรเข้าใจเป็นอย่างดี แต่เปโตรอธิบายว่าการข่มเหงพิสูจน์ถึง“ความเชื่อ [ของเรา] อันประเสริฐ” (1 ปต.1:7)

บางครั้งคุณอาจรู้สึกว่ากำลังถูกถลุงด้วยไฟ โดยสัมผัสถึงความร้อนของความพ่ายแพ้ ความเจ็บป่วย หรืออุปสรรคต่างๆ แต่ความยากลำบากมักเป็นกระบวนการที่พระเจ้าทรงใช้เพื่อชำระทองคำแห่งความเชื่อของเราให้บริสุทธิ์ในความเจ็บปวด เราอาจอ้อนวอนพระเจ้าให้กระบวนการนี้สิ้นสุดโดยเร็ว แต่พระองค์ทรงทราบสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเราแม้ในช่วงเวลาเจ็บปวดของชีวิต ให้เราติดสนิทกับองค์พระผู้ช่วยให้รอด และแสวงหาการทรงปลอบประโลมและสันติสุขในพระองค์

โตพอ

หลานชายของฉันวิ่งไปต่อแถวขึ้นรถไฟเหาะ เขายืนพิงหลังกับที่วัดส่วนสูงเพื่อดูว่าเขาโตพอจะเล่นได้หรือยัง เขาร้องด้วยความยินดีเมื่อศีรษะของเขาเลยขีดที่กำหนด

มีหลายสิ่งในชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการ “โต” พอใช่หรือไม่ เช่นการย้ายจากที่นั่งเด็กเล็กในรถมาสู่การคาดเข็มขัดนิรภัย และจากเบาะหลังมาเบาะหน้า การสอบใบขับขี่ การเลือกตั้ง การแต่งงาน เช่นเดียวกับหลานชายของฉัน เราอาจใช้ชีวิตเพื่อรอคอยที่จะเติบโต

ในสมัยพันธสัญญาใหม่ เด็กๆนั้นเป็นที่รัก แต่ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากนักในสังคมจนกว่าจะ “โตเป็นผู้ใหญ่” และถูกนับเป็นสมาชิกของตระกูล และสามารถเข้าสู่ธรรมศาลาได้เหมือนผู้ใหญ่ พระเยซูทรงฉีกกฎเกณฑ์ในยุคของ พระองค์ด้วยการต้อนรับคนยากไร้ คนเจ็บป่วย และแม้กระทั่งเด็กเล็กๆ พระกิตติคุณสามเล่ม (มัทธิว, มาระโก และลูกา) เล่าถึงพ่อแม่ที่นำเด็กเล็กๆมาหาพระเยซู เพื่อให้พระองค์ทรงวางพระหัตถ์และอธิษฐานเผื่อพวกเขา (มธ.19:13; มก.10:16)

เหล่าสาวกตำหนิพวกผู้ใหญ่เพราะมองว่าไม่เหมาะสม เมื่อพระเยซูทรงเห็นดังนั้นก็ “ไม่พอพระทัย” (มก.10:14) ทรงอ้าแขนต้อนรับเด็กเล็กๆ พระองค์มองว่าพวกเขาสำคัญในแผ่นดินของพระองค์ และท้าทายทุกคนให้เป็นเหมือนเด็กเหล่านี้ คือยอมรับในความอ่อนแอและความต้องการพระองค์เพื่อจะรู้จักพระองค์ (ลก.18:17) ความต้องการแบบเด็กๆของเราทำให้เรา “โต” พอที่จะรับความรักของพระองค์

วิ่งหาความรัก

นอร่าเป็นคนตัวเล็ก แต่การที่ “บริดเจ็ต” ซึ่งเป็นหญิงที่สูงถึงหกฟุตมองลงมาที่เธอด้วยใบหน้างอง้ำไม่ได้ทำให้นอร่ารู้สึกกลัวเลย บริดเจ็ตอธิบายไม่ได้ว่าทำไมเธอจึงมาที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ไม่พร้อมมีบุตรแห่งนี้ ทั้งๆที่เธอตัดสินใจแล้วว่าจะ “กำจัดเด็กทิ้ง” นอร่าจึงถามเธออย่างสุภาพ แต่บริดเจ็ตบ่ายเบี่ยงไม่ตอบโดยใช้คำพูดหยาบคาย ไม่นานบริดเจ็ตก็เตรียมลุกออกจากที่นั่น พร้อมประกาศเจตนารมณ์ที่เธอจะยุติการตั้งครรภ์

นอร่ารีบเข้าไปขวางระหว่างบริดเจ็ตกับประตูและพูดว่า “ก่อนที่คุณจะไป ฉันขอกอดและอธิษฐานเผื่อคุณได้มั้ย” ไม่มีใครเคยกอดเธอด้วยเจตนาที่ดีเช่นนี้มาก่อน ทันใดนั้นน้ำตาของเธอก็พรั่งพรูออกมาอย่างไม่คาดคิด

สิ่งที่นอร่าทำสะท้อนให้เห็นถึงหัวใจของพระเจ้าที่รักอิสราเอลประชากรของพระองค์ “ด้วยความรักนิรันดร์” (ยรม.31:3) ประชากรเหล่านั้นล้มลงและต้องรับผลที่ร้ายแรงของการละเมิดกฎเกณฑ์ของพระเจ้า แต่พระเจ้าตรัสกับพวกเขาว่า “เราจึงมีความรักมั่นคงต่อเจ้าสืบไป เราจะสร้างเจ้าอีก” (ข้อ 3-4)

เรื่องราวในอดีตของบริดเจ็ตนั้นซับซ้อน (พวกเราหลายคนอาจจะมีประสบการณ์คล้ายกันกับเธอ) เธอเชื่อว่าพระเจ้าและผู้ติดตามพระองค์คงจะประณามเธอ นอร่าแสดงให้เธอเห็นสิ่งที่แตกต่าง นั่นคือ พระเจ้าผู้ไม่ทรงมองข้ามความบาปของเราเพราะพระองค์รักเราเกินกว่าที่เราจะคิดได้ พระองค์ทรงอ้าแขนต้อนรับเรา เราไม่จำเป็นต้องวิ่งหนีอีกต่อไป

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา